สตีเฟ่น วิลท์ไชร์ (Stephen Wiltshire) เป็นคนลอนดอนแต่กำเนิด ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสซึม (Autism) ตั้งแต่อายุ 3 ขวบ เพราะเขามีปัญหาด้านการพูดและมีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป นั่นจึงทำให้ สตีเฟ่นถูกส่งตัวไปเรียนที่โรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือ เขาชอบวาดรูปมาก สามารถวาดภาพได้สมจริง เก็บรายละเอียดได้อย่างครบถ้วน เพียงแค่ดูรูปไม่กี่วินาที โดยที่ไม่เคยเรียนวาดภาพมาก่อนเลยในวัยแค่ 5 ขวบเท่านั้น !
จากที่พูดไม่ได้เลย สตีเฟ่นก็เริ่มมีกำลังใจที่จะหัดพูดอย่างจริงจัง เพราะหลังจากที่ผู้คนทั่วโลกรู้จักผลงานศิลปะของเขา จากการที่เขาเพียงแค่ดูรูปตึกรามบ้านช่องในกรุงลอนดอนไม่ถึง 20 นาที และกลับมาวาดรูปลงดีเทลทุกอย่างได้อย่างแม่นเป๊ะจากความทรงจำของเขาเอง สตีเฟ่นก็เริ่มมองเห็นคุณค่าในตัวเอง จนในวัย 9 ขวบ เขาก็สามารถพูดได้ ยิ้มแย้มแจ่มใส เข้ากับคนอื่นได้มากขึ้น และได้เดินทางไปทั่วโลกเพื่อทำงานศิลปะของตัวเอง
เมื่อไม่นานมานี้โลกของเราได้ต้อนรับหนุ่มน้อยอัจฉริยะคนใหม่ ที่ทำลายสถิติบัณฑิตที่อายุน้อยที่สุดในโลก ลอเรนท์ ไซมอน (Laurent Simons) จากประเทศเบลเยียม เพราะในขณะที่หลายคนต้องใช้เวลากว่า 6 ปีในการเรียนจบชั้นมัธยมปลาย แต่หนุ่มน้อยอัจฉริยะคนนี้จบชั้นมัธยมปลายในวัย 8 ขวบ โดยใช้เวลาเพียงแค่ 18 เดือนเท่านั้น
ยังไม่พอ... ในขณะที่หลายคนใช้เวลาในการเรียนระดับมหาวิทยาลัย 4 ปีเป็นอย่างต่ำ ลอเรนท์กลับจบปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัย Eindhoven University of Technology ในเวลาเพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้น แถมยังวางแผนจะเรียนต่อปริญญาเอกด้านการแพทย์อีกด้วย !
ลอเรนท์ได้ทำลายสถิติโลกโดยการเป็นบัณฑิตที่อายุน้อยที่สุดคนใหม่ที่ถูกบันทึกโดย Guinness World Records ด้วยไอคิวมากถึง 145 เขามีความสามารถในการจำเป็นภาพ (Photographic Memory) เป็นเลิศ มีทักษะในการวิเคราะห์อย่างดีเยี่ยม ส่วนเป้าหมายที่อยากทำให้สำเร็จของหนุ่มน้อยคนนี้ก็คือ เขาอยากจะยืดอายุให้กับมนุษย์ให้นานขึ้น ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากปู่และย่าของเขาเอง
อ่านมาถึงตรงนี้ต้องเริ่มสงสัยกันบ้างแหละว่า ทำไมเราไม่เป็นอัจฉริยะบ้าง หรือทำไมคนบางคนถึงได้เป็นอัจฉริยะ แล้วทำไมบางคนถึงไม่เป็น มาดูคำตอบกัน
• สมองซีกซ้ายส่วนหน้าผิดปกติ
ยกตัวอย่างเช่น คิม พีค (Kim Peek), สตีเฟ่น วิลท์ไชร์ (Stephen Wiltshire), โทนี่ เดอบลอยส์ (Tony DeBlois), อลอนโซ่ เคลมอนส์ (Alonzo Clemons) และแดเนียล แทมเมต (Daniel Tammet) พวกเขาถูกเรียกว่าอัจฉริยะปัญญาอ่อน (Savant) เพราะมีความผิดปกติที่สมองซีกซ้ายส่วนหน้า ที่ทำหน้าที่คิดอย่างเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล เป็นเรื่องราว เป็นขั้นตอน รวมถึงภาษาที่เชื่อมโยงกันที่จะทำให้สามารถเล่าเรื่องราวออกมาให้คนอื่นเข้าใจได้ แต่สำหรับอัจฉริยะปัญญาอ่อน พวกเขาจะไม่สามารถทำได้เหมือนคนปกติ เมื่อสมองซีกซ้ายมีปัญหาจึงทำให้สมองซีกขวาขึ้นมามีบทบาทสำคัญแทน อัจฉริยะปัญญาอ่อนจึงมีสไตล์การคิดแบบสมองซีกขวานำ คือคิดแบบโดยไม่ต้องคิด เห็นแล้วก็ตอบได้เลยแล้วก็ถูกด้วย แถมยังเด่นด้านศิลปะและดนตรีมาก
• พรสวรรค์แต่กำเนิด
อัจฉริยะที่มีพรสวรรค์แต่กำเนิดคือ อัจฉริยะที่เราจะคุ้นเคยกันมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะมีพรสวรรค์แต่กำเนิดได้ เพราะมีเปอร์เซ็นต์อยู่ที่ 1 ในล้านเท่านั้น ซึ่งอัจฉริยะที่มีพรสวรรค์แต่กำเนิดมักจะมีไอคิวสูงอย่างเช่น ลอเรนท์ ไซมอน (Laurent Simons) หรือนักวิทยาศาสตร์หลายคนในอดีตที่สามารถไขปัญหาความซับซ้อนได้อย่าง อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) จุดเด่นสำคัญคือคนเหล่านี้จะเก่งด้านการคำนวณมาก ๆ
• การสนับสนุนที่ดี
บางคนถึงจะเก่งแค่ไหน อายุเท่านี้ก็ต้องเรียนตามชั้น ห้ามข้ามชั้นเด็ดขาดในบางประเทศ หรือเด็กผู้หญิงที่มีไอคิวสูงอาจจะลงเอยด้วยการแต่งงาน ทำให้คนที่เป็นอัจฉริยะบางคนไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดี เราจะไม่พูดถึงอัจฉริยะในสมัยก่อน เพราะพวกเขาเป็นผู้บุกเบิกที่ไม่มีใครจะเข้าใจในสิ่งที่ทำ แต่หากพูดถึงอัจฉริยะหน้าใหม่แล้ว สิ่งที่เหมือนกันในตัวของอัจฉริยะทุกคนเลยคือ พวกเขาล้วนแล้วแต่มีผู้สนับสนุนที่ดีที่จะไม่บอกพวกเขาว่าทำไม่ได้ ตัวอย่างเช่น พ่อของลอเรนท์ ไซมอน อัจฉริยะอายุน้อย เมื่อเขาถูกถามว่า ความอัจฉริยะในเด็กหลายคนมักจะเลือนหายไป ตอนที่พวกเขาโตเป็นผู้ใหญ่ ลอเรนท์จะเป็นแบบนั้นไหม ? พ่อของเขาตอบว่า "เมื่อเขาบอกว่าจะทำอะไร ผมจะพยายามให้เขาได้ทำตามนั้นเสมอ"
แหล่งข้อมูล
- หนังสือโลกจิต เขียนโดย แทนไท ประเสริฐกุล
- หาคำตอบว่า ‘ทำไมบางคนถึงอัจฉริยะ’ เหมือน Laurent Simons บัณฑิตที่อายุน้อยที่สุดในโลก